วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2553

Good think for good life


Good think for good life” แนวคิดดี ชีวิตดี

“ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับว่าเราคิดอย่างไร”

ผู้ที่มีความคิดดี มีทัศนคติดี ย่อมจะได้รับสิ่งที่ดีจากความคิดนั้นด้วย โดยส่วนใหญ่คนเรามักจะมีความคิดอยู่ 2 ด้านเหมือน ๆ กัน นั่นคือ ด้านบวกและด้านลบ แต่โดยส่วนมากแล้วคนเรามักจะคิดในด้านลบเสมอจนชีวิตไม่มีความสุข
เมื่อ วันที่ 15 สิงหาคม 2552 ที่ผ่านมา ทางมูลนิธิสายธารพระพรร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดโครงการอบรมและสัมมนาทางจริยธรรม หลักสูตร แนวคิดดี ชีวิตดี (Good thinking for good life) ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลก
หลักสูตร: 1 วัน
สถานที่: ห้องประชุม
เหมาะสำหรับ: นักเรียนนักศึกษา 50 – 200 ท่าน
วัตถุประสงค์: เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีแนวคิดที่ดีและถูกต้อง เพื่อก้าวสู่ชีวิตที่ประสบความสำเร็จทีมวิทยากร: วิทยากรอบรม 2 ท่าน ได้แก่ อาจารย์ศุภชัย อินสุข อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และคุณจินตนา กี่เอี่ยน เจ้าหน้าที่มูลนิธิสายธารพระพร และผู้ช่วยวิทยากรประสบการณ์สูง 5 ท่าน

หลักสูตร แนวคิดดี ชีวิตดี (Good think for good life) เป็นหลักสูตรที่สร้างแนวความคิดที่ดีบนรากฐานคุณธรรมจริยธรรม เพื่อส่งเสริมการก้าวไปสู่ความสำเร็จ และมีภูมิคุ้มกันทางความคิดต่อค่านิยมที่ไม่ถูกต้องได้
ซึ่งผู้เข้ารับการอบรม จะได้เรียนรู้และเข้าใจทั้งเป็นส่วนบุคคล และเป็นกลุ่ม โดยอาศัย การเรียนรู้ผ่านกิจกรรมกลุ่ม (Group Dynamic) ที่มีความสนุกสนาน สามารถช่วยให้ สมาชิกในกลุ่ม เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน ในแบบ "ดวงตาเห็นธรรม" และเกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ แรงจูงใจ และพฤติกรรม อย่างได้ผลเห็นชัด สามารถสร้างแรงบันดาลใจได้อย่างยอดเยี่ยม เพื่อพิชิตความสำเร็จของแต่ละบุคคล

ด้วยหลักสูตรที่มีเนื้อหาเพื่อพัฒนาความคิดและพัฒนาชีวิตสู่ความสำเร็จ การใช้ชีวิตแต่ละช่วงชีวิตอย่างมีเป้าหมาย การจัดการกับอุปสรรคนานาประการทั้งที่ควบคุมได้และไม่ได้ เพื่อนำชีวิตให้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพ สร้างสรรค์ให้เยาวชนรุ่นใหม่กลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพในอนาคต
การค้นหาตัวเองนั้นไม่ใช่สิ่งยาก แต่กว่าที่จะหาตัวเองเจอก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ขึ้นอยู่กับความอดทน ความเข้มแข็งของใจคุณว่าจะสู้ขนาดไหน คุณควรจะเก็บเกี่ยวสิ่งต่างๆ จากภายในชีวิตตนเองและจากสังคมภายนอก ความผิดพลาด ความสำเร็จ ความชื่นชม ยินดีที่ได้มาจากการค้นหาตัวเองด้วยตัวคุณเอง มันคือประสบการณ์และเป็นบทเรียนที่ดี การค้นหาตัวเองนั้นไม่ใช่สิ่งยาก แต่จะค้นหาตัวเองได้เร็วหรือช้านั้น..ขึ้นอยู่กับ ตัวคุณเองว่าจะเริ่มลงมือทำเมื่อไร..
ปัจจุบัน สังคมเรายังต้องการ การพัฒนา ต้องการการเยียวยารักษา ต้องการจุดยืนในสังคม และมากยิ่งกว่านั้นยังเราต้องการคนที่มีความเข้าใจที่จะส่งเสริมการพัฒนาและรักษาสังคมให้มีความสงบสุข...ด้วยเช่นกัน มูลนิธิสายธารพระพรขอเป็นส่วนหนึ่งที่นำพาให้สังคมไปถึงที่หมายนั้น
"แม้จะมีความฝันเพียงน้อยนิดถึงแม้จะมีโอกาสเพียงแสงเทียนจงอย่าละทิ้งมันไปและทำให้ดีที่สุด"

ครอบครัวยุคใหม่ ห่างไกลยาเสพติด


ครอบครัว เป็นสถาบันพื้นฐานของสังคมที่มีขนาดเล็ก แต่มีความสำคัญมากที่สุด เนื่องจากเป็นสถาบันที่สร้างความรัก ความอบอุ่น และภูมิคุ้มกันทางสังคมให้กับสมาชิกในครอบครัว แต่เนื่องด้วยสภาวะปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปจึงส่งผลให้ครอบครัวเกิดความห่างเหิน และเกิดปัญหาสังคมอื่นๆ เข้ามาแทรกแทรงในครอบครัวได้ง่ายยิ่งขึ้น จากผลการศึกษาพฤติกรรมของคู่สมรสไทยในเรื่องการทำหน้าที่ครอบครัว (วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย,2542;44(4) ซ 320-328) ได้ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวไทยว่า เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น และสถิติการหย่าร้างมีมากขึ้นทุกปี มีครอบครัวไทยเพียง 3 ใน 4 ที่มีพ่อแม่ลูกอยู่ร่วมกัน 1 ใน 4 อยู่ในภาวะเสี่ยงจากภาวะครอบครัวแยกกันอยู่ ระยะเวลาในการอยู่ร่วมกันของครอบครัวสั้นลง และในครอบครัวที่แตกแยกมีปัญหาการเลี้ยงดูเด็กอย่างไม่เหมาะสม ในครอบครัวที่มีความเครียดจากปัญหาความสัมพันธ์ระหว่าง พ่อ แม่ มีผลเสียมากกว่าครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน
นอกจากปัญหาที่เกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรสโดยตรงแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่งคือ ปัญหาเด็กขาดความรัก ความอบอุ่นในครอบครัว ทำให้เกิดภาวะเสี่ยงต่อปัญหาสังคมอื่นๆ เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่สำคัญมากขึ้นในทั่วภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจของเอเบคโพลล์ในโครงการเฝ้าระวังคุณภาพชีวิตเยาวชนไทย พบว่า เยาวชนที่อายุ 12-24 ปี มีแนวโน้มในการใช้สิ่งเสพติดมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งที่อันตรายต่ออนาคตของชาติเป็นอย่างยิ่ง
จังหวัดพิษณุโลก เป็นอีกจังหวัดหนึ่งซึ่งมีสถานการณ์เกี่ยวกับครอบครัวที่มีปัญหาดังที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องด้วยเป็นจังหวัดที่มีหน่วยงานราชการ และสถานการศึกษาเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีประชาชนทั้งกลุ่มครอบครัว และกลุ่มเยาวชนได้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพและศึกษาต่อในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก จึงมีแนวโน้มที่เข้าสู่ภาวะเสี่ยงจากภัยของยาเสพติดดังที่กล่าวนำมาข้างต้น
มูลนิธิสายธารพระพร (องค์กรสาธารณประโยชน์) เล็งเห็นว่า ปัญหานี้จะมีผลในระยะยาวต่อชุมชนในอนาคต จึงได้จัดการประชุมเพื่อหาแนวทางในการป้องกันปัญหายาเสพติดในครอบครัว โดยอาศัยประสบการณ์จากกระบวนการดำเนินโครงการครอบครัว และการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการรณรงค์เรื่องสิ่งเสพติด มาปรับแก้ไขให้เข้ากับสภาพครอบครัวในปัจจุบัน โดยเลือกประเด็นของการใช้เวลาร่วมกันในการทำกิจกรรมให้มีมากยิ่งขึ้น ผ่านกิจกรรมในโครงการ ทั้งนี้ มูลนิธิสายธารพระพรมีแนวคิดว่า เมื่อครอบครัวได้มีโอกาสใช้เวลาร่วมกันอย่างมีความสุข จะมีผลให้ครอบครัวเกิดความอบอุ่นและช่วยป้องกันการที่บุตรหลานจะนำตนเองเข้าสู่ภาวะเสี่ยงในเรื่องยาเสพติดได้
ดังนั้นมูลนิธิสายธารพระพร (องค์กรสาธารณประโยชน์) จึงได้จัดทำโครงการ “ ครอบครัวยุคใหม่ ห่างไกลยาเสพติด” ขึ้น โดยหวังว่ากิจกรรมในโครงการจะมีผลช่วยให้ครอบครัวได้พัฒนาความสัมพันธ์ให้มีความใกล้ชิดและสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ แม่ ลูก ให้เกิดความรักและความเข้าใจมากขึ้น เป็นการป้องกันภัยจากยาเสพติด ทำให้ครอบครัวเข้มแข็ง ส่งผลให้ชุมชนเกิดความมั่นคงต่อไปในระยะยาว

ค่ายพัฒนาจริยธรรมเยาวชนเครือข่ายรักษ์ลำน้ำเข็ก


ลำน้ำเข็กเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ซึ่งไหลผ่านทั้งเขตป่าอนุรักษ์และเขตชุมชน นอกจากจะเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวเตของผืนป่า สัตว์ป่า สัตว์น้ำ และชุมชนตลอด 2 ฝั่ง ลำน้ำเข็ก แล้วยังเป็นแหล่งรองรับน้ำทิ้งจากกิจกรรมชุมชน ร้านอาหาร รีสอร์ท และเกษตรกรรม ที่อาศัยอยู่ริมลำน้ำเข็ก มีผลทำให้คุณภาพในเสื่อมโทรมลงมากขึ้น และส่งผลให้คุณภาพน้ำในแม่น้ำน่านให้เสื่อมโทรมลงตามมาในที่สุด และเป็นปัญหาที่หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความสนใจในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว เขตพื้นที่การปกครองที่มีส่วนรับผิดชอบลำน้ำเข็ก ตำแหน่งดังภาพที่ 3 มีจำนวน 12 พื้นที่ ดังนี้
1) เทศบาลตำบลบ้านแยง ต.บ้านแยง อ.นครไทย
2) อบต.แก่งโสภา ต.แก่งโสภา อ.วังทอง
3) อบต.วังนกแอ่น ต.วังนกแอ่น อ.วังทอง
4) อบต.ชัยนาม ต.ชัยนาม อ.วังทอง
5) อบต.ดินทอง ต.ดินทอง อ.วังทอง
6) อบต.วังทอง ต.วังทอง อ.วังทอง
7) เทศบาลตำบลวังทอง ต.วังทอง อ.วังทอง
8) อบต.วังพิกุล ต.วังทอง อ.วังทอง
9) อบต.แม่ระกา ต.แม่ระกา อ.วังทอง
10) อบต.ท่าตาล ต.ท่าตาล อ.บางกระทุ่ม
11) อบต.นครป่าหมาก ต.นครป่าหมาก อ.บางกระทุ่ม
12) อบต.ไผ่ล้อม ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของลำน้ำเข็กจะได้รับความสนใจจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่จากสภาพของลำน้ำและคุณภาพแหล่งน้ำที่พบในปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า กิจกรรมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นยังไม่เพียงพอในการหยุดยั้งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของลำน้ำเข็กซึ่งจะทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพชุมชนที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำ แหล่งท่องเที่ยวที่มีหลายแห่งตลอดลำน้ำ กลุ่มธุรกิจการท่องเที่ยว ร้านอาหาร รีสอร์ท การเกษตรกรรม ปศุสัตว์ต่างๆ ที่ใช้ประโยชน์จากลำน้ำเข็ก ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ มูลนิธิสายธารพระพรซึ่งเป็นหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไร ก่อตั้งขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนและชุมชนอย่างครบทุกด้าน และมีประสบการณ์ด้านการส่งเสริมเยาวชนและครอบครัวมาอย่างต่อเนื่อง ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาและมีแนวคิดว่า “การแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของลำน้ำเข็กอย่างมีประสิทธิผลและก่อให้เกิดความยั่งยืนนั้น ต้องได้รับการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วยความรู้สึกตระหนักถึงความสำคัญ รักและหวงแหนอย่างแท้จริง และจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีส่วนร่วมจากเยาวชนในท้องถิ่นที่พร้อมจะเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการเพาะบ่มทางความคิด เติบใหญ่เป็นต้นกล้า โตขึ้นพร้อมแผ่กิ่งก้านสาขา เฝ้าระวังเรื่องสิ่งแวดล้อมของ ลำน้ำเข็กต่อไป” จึงจัดทำโครงการ ”ค่ายพัฒนาจริยธรรมเยาวชนเครือข่ายรักษ์ลำน้ำเข็ก” เพื่อพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม สำนึกอนุรักษ์และให้ความรู้ความเข้าใจเชิงปฏิบัติการในการอนุรักษ์ลำน้ำแก่เยาวชนในพื้นที่ริมลำน้ำเข็ก ทั้งนี้จะเริ่มจากกลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจในพื้นที่ดำเนินการแล้วขยายผลจนตลอดลำน้ำ ทั้งยังจะจัดตั้งเป็นกลุ่มเฝ้าระวังและมีกิจกรรมในการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้มูลนิธิสายธารพระพร ได้น้อมนำแนวคิดเรื่อง “เศรษฐกิจพอเพียง” ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นแกนกลางและทิศทางของแนวคิดในการดำเนินกิจกรรมและเป้าประสงค์ของโครงการฯ โดยได้ริเริ่มการขับเคลื่อนจากเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งเปรียบเสมือนผ้าขาวที่พร้อมจะเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นธรรมชาติ แทรกซึมจริยธรรมและสำนักรักษ์สิ่งแวดล้อมผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่สนุกสนาน มีฝึกฝนให้รู้จักวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ของตนเอง พัฒนารูปแบบของกิจกรรมหลักสูตรต่างๆ บนพื้นฐานของศักยภาพของเยาวชน มีกิจกรรมที่ต่อเนื่อง ซึ่งเปรียบเสมือนการตอกเสาเข็มด้านจริยธรรมสิ่งแวดล้อมของชุมชน สร้างกระแสความตื่นตัวของชุมชน โดยมีการส่งผ่านด้านความคิดจากการประสบการณ์จากผู้ใหญ่สู่เยาวชน และการเรียนรู้ของเยาวชนขยายสู่ชุมชนท้องถิ่นของตนเอง อีกทั้งยังเน้นให้มีกิจกรรมสัมพันธ์ตั้งแต่ระดับปกครองถึงเยาวชน รวมถึงกลุ่มธุรกิจ ก่อให้เกิดชุมชนเข็มแข็งสืบไป